Saturday, August 25, 2007

ควันหลง..

(พอดีว่าเลิกเขียนไปแล้วแต่ได้มาคอมเม้นพัชร์เลยคัดมาแปะไว้ 22/08/07)

ผมเข้าใจในภาพรวมว่ารัฐธรรมนูญ ปี40 เป็นหลักการของประชาธิปไตยตามความเชื่อ
ส่วน ปี50 เกิดมาจากข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องตามหลักการ

การเห็นชอบ ไม่จำเป็นว่า จะต้องเห็นด้วยทุกอย่าง
การไม่เห็นชอบ ก็ไม่จำต้องว่า ไม่เห็นด้วยทุกอย่างเช่นกัน

ดั้งนั้นประชามติที่ผ่านมา ผมจึงแสดงจุดยืนที่จะเลือกใช้ความเหมาะสมที่สุดในการตัดสินใจ..

ไหนๆก็ผ่านความเห็นชอบไปแล้วก็อยากพูดเป็นควันหลงหลังจากผ่าน 19สิงหาว่า

ที่บอกว่าสื่อของรัฐปิดกั้น..มีบ้าง แต่เรื่องที่รัฐออกตัวให้รับร่างจริงๆเป็นเพียง
นามธรรม
ที่เข้าใจกันไปว่ารัฐรณรงค์ให้เห็นชอบเพราะเนื่องจากรัฐเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
แต่สิ่งที่เป็นรูปธรรมจริงๆ ที่ออกจากรัฐจริงๆ เช่นเอกสารที่บอกให้รับ ไม่ใช่ให้รณรงค์ออกเสียงนั้น...ไม่มี
(ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับรัฐเช่นการไปแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการไม่ใช่เป็นผลงานรัฐบาล)

ไม่มีสื่อไหนที่พลเอกสุรยุทธิ์บอกว่า ช่วยไปรับร่าง เห็นจะมีแต่ให้ไปช่วยกันลงประชามติกันเยอะๆ

แต่ถ้าเรื่องของการรณรงค์ไม่เห็นชอบ แจกกันเกลื่อนกลาดทั้งเอกสาร แผ่นพับ ใบปลิว ซึ่งล้วนเป็นรูปธรรมทั้งนั้น
เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว ผมกลับมองฝ่ายเห็นชอบเสียเปรียบในการรณรงค์มากกว่า
เพราะฝ่ายที่เห็นชอบหลายคนถูกผูกติดกับรัฐที่ต้องพยามวางตัวเป็นกลาง
จึงไม่สามารถทำได้เต็มที่..

ต่อมาเรื่องการดีเบตร่างรัฐธรรมนูญ ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเพราะคนจะสนใจแต่ตัวบุคคล ไม่ได้สนใจในเนื้อหา

คิดง่ายๆว่าใครโต้เถียงเก่งกว่ากันคนนั้นก็ชนะ
ทั้งที่ความเป็นจริงในเนื้อหาอาจระบุคำตอบไว้ชัดแจ้งแล้วว่า
"ไก่ออกลูกเป็นไข่"
ไม่ใช่ต้องมาหาคำตอบเพื่อโต้เถียงกันว่า "ไก่ออกลูกเป็นไข่หรือออกลูกเป็นตัว"
ซึ่งจะเป็นการย้ำให้ประชาชนเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มีแต่ปัญหา จนลืมมองในส่วนที่เป็นข้อดีไป
ข้อไหนเห็นด้วยหรือเป็นข้อดีในปี 50 ก็ไม่พูดถึงอยู่แล้ว
ประชาชนทั่วไปย่อมจะคิดว่ารัฐธรรมนุญนี้มีแต่ไม่ดี
ทั้งที่หลักของการดีเบตนั้น แท้จริงแล้วมีเจตนามุ่งให้เห็นถึงความรู้
ความสามารถ ศักยภาพ ปฏิภาณไหวพริบของตัวบุคคลทั้งสองในการโต้ตอบ
เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจในการเลือกเชื่อในตัวบุคคลนั้น
และเนื้อความในร่างรัฐธรรมนูญมันบอกข้อเท็จจริงในตัวมันเองอยู่แล้ว
ประชาชนสามารถที่จะศึกษาได้ จึงไม่เหมาะจะนำมาเป็นหัวข้อโต้วาที

ครั้งหนึ่งเคยไปสนามหลวงก็พบป้ายติดว่า
"มาตรา 28 การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้
เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย..."
โดยยกมาแค่วรรคแรก
แล้วยังอธิบายเนื้อหานี้ข้างล่างต่อว่า แปลว่ารัฐสามารถตรากฎหมายริดรอนสิทธิของประชาชนให้เป็นเรื่องถูกต้องได้..
(ก็ไม่ทราบว่า เป็นข้อความที่ถูกบิดเบือนหรือไม่)

นอกจากนี้ยังได้ยินนปก.บอกผู้ชุมนุมว่าพูดที่สนามหลวง ว่า
"ถ้ามาตรา 309 ผ่าน คาร์บ้องหรือคาร์บอมที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณดำรงตำแหน่งนายก
ถ้าเกิดมันเป็นคาร์บอมจริงๆ ทหารก็จะใช้มาตรานี้แหละครับพี่น้อง ที่จะทำให้พวกมันไม่ต้องรับผิด"

(เออเนอะ..ยังคิดไปได้แน่ะ)

พอพูดถึง 309 ก็อยากคิดเห็นนิดหนึ่งครับว่า ถ้ามาตรานี้เกิดเป็นวิกฤติ
หรือสร้างปัญหาอย่างร้างแรงมากอย่าง อ.วรเจตน์ได้ตั้งข้อสังเกตจริงๆ ผมเชื่อว่าถ้ามันถึงขั้นนั้น
กระแสของประชาชนทั้งหมดจะกลับขึ้นมาสู้เอง

ในใจแล้วผมคิดในมุมที่ว่าเพราะต้องการที่จะมุ่งคุ้มครองการกระทำ รวมไปถึงองค์กรต่างๆที่เกิดขึ้นมา

เช่น คตส.ถ้าไม่รับรองฉบับชั่วคราว องค์กรนี้จะอยู่ที่ไหน และเพื่อปูทางลงจากหลังเสือให้กับคมช.เสียมากกว่า
ซึ่งน่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดี ไม่งั้นอาจจะเกิดการแก้แค้นไม่เป็นที่สิ้นสุด..
พวกที่ถืออำนาจอยู่ก็ไม่กล้าลง เมื่อเกิดการต่อสู้ ความเดือดร้อนก็จะตกอยู่กับประชาชนอีก

อ.วรเจตน์เคยแนะนำว่า ถ้าใช้ปี 40 ก็สามารถนำเข้าเพิ่มเติมในบทเฉพาะการ
ผมก็สงสัยตรงที่แน่ใจแล้วหรอ..ว่ามันจะไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองหรือปัญหาตามมา

ผมเคารพในหลักการ แต่ไม่มั่นใจข้อเท็จจริง..

เนื่องจากนักวิชาการไม่ต้องรับผลกระทบในข้อกังวลอันอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้โดยตรง
จึงสามารถมองได้ชัดกว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง และเมื่อสุดท้ายมีอะไรเกิดขึ้น
นักวิชาการจะบอกแค่เพียงว่า "เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย"

ก็มาคิดกันอีกว่า เราจะหาทางออก หรือ เราจะหาทางตัน?

ประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อมีการลงมติเส็ด ก็สามารถเปิดเอ็กซิทโพลเช่นหน่วยไหนได้สูงสุด ใครชนะได้เลย
แต่ในการเมืองไทย เคยมีที่เปิดเอ็กซิทโพลแล้ว เกิดไฟดับในหน่วยเลือกตั้งที่เอ่ยในนั้นตามม

เชื่อไหมครับ?

-------------------------------

สุดท้ายนี้ในรธน.50 ผมอยากถามแบบแอ๊บแบ๊ว (ติดเทรนหน่อย) ว่า
ประเทศไทยมีสภาพเป็นจังหวัดทั้ง 76จังหวัดจริงหรอ ???

สงสัยศรีธนญชัยที่ได้อ่านวรรคก่อนคงเตรียมตัวทำงานแล้ว...
(ถึงว่าไง..จะเขียนมาดีเพียงใดก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย)

-------------------------------

Saturday, October 21, 2006

ประธานสภานิติบัญญัติ

ตอนนี้ก็มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วจำนวน 242 คน

ในอีกส่วน คมช. ได้วางกติกาให้มีการแต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ จำนวน 2000 คนโดยเลือกกันเองให้เหลือ 200 คน เพื่อส่งรายชื่อให้ คมช. เลือก 100 คน เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และให้สภานี้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 25 คน ส่งต่อให้ คมช. เลือกอีก 10 คน โดยให้ประธานสภานิติบัญญัติเป็นประธานสมัชชาแห่งชาติโดยปริยาย

เมื่อตำแหน่งประธานนี้มีความสำคัญมาก... จึงไม่แปลกหากจะเกิดการแย่งชิงกันอย่างดุเดือดของ 2 ตัวเก็ง ว่าจะเป็นบุรุษคาบไปป์ หรือ มีชัยไทยแลนด์

ถ้าจะว่าไป ตัวบุคคลนั้นย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้บ้างเสมอคนที่ดีอาจจะเป็นคนไม่ดีในภายหลัง คนไม่ดีก็อาจจะกลับมาเป็นคนดีได้ จึงไม่อยากให้ใช้อคติส่วนตัวตัดสินแต่อยากให้โอกาสกันและคำนึงภาพรวมของประโยชน์ที่ประชาชนพึงได้รับเป็นหลัก

หากจะเอาเรื่องกับ อ.มีชัย โดยเฉพาะการตรา พรก.นิรโทษกรรมให้กับคณะ รสช. ที่สั่งปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 หรือการเป็นนักกฎหมายประเภทเนติบริกรให้มาเป็นประเด็น ในความเห็นผมก็ยังเป็นความเห็นที่ค่อนข้างอ่อนอยู่

ถ้าระบอบประชาธิปไตยของบ้านเราที่ยังไม่สามารถลงหลักปักฐานในสังคมไทยได้อย่างถาวรเพราะ ส่วนหนึ่งมาจากเนติบริกรที่ทำตัวรับใช้และสนองผู้มีอำนาจจนทำให้หลักนิติรัฐในการปกครองแผ่นดินไม่เคยเกิดขึ้นได้อย่างจริงจังในสังคมไทยอย่างที่คุณสุริยะใสกล่าวนั้น ทั้งปวงเป็นสิ่งที่ อ.มีชัยไม่ได้ช่วยเฉพาะรัฐบาลของทักษิณ แต่ได้ช่วยรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย เพราะเป็นเรื่องของระบบการทำงาน และหัวหน้าคณะในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือคนไหนๆหากได้รับการร้องขอจากคณะปฏิวัติให้มาช่วย ก็ต้องไป ทั้งที่ความจริงภายหลัง อ.มีชัย ก็ยังตำหนินโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ หลายประเด็น และสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลบ่อยครั้ง

ผมเชื่อว่าหลายคนเคยมีความสัมพันธ์กับพันตำรวจโททักษิณทั้งนั้น แม้ว่าวันนี้จะอยู่ตรงข้ามชัดเจนก็ตาม
สังคมเราทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าเมื่อรักใครชอบใคร ก็มักจะเชียร์หรือชิงชังโดยไม่รับฟังเหตุผลและความจริง
เมื่อเราได้ดูก็คงเห็นแล้วว่า ทุกขั้นตอนนั้นอยู่ในการกำกับของ คมช. ดังนั้นจึงเป็นจุดที่น่าเป็นห่วงอยู่ว่าอาจจะมีการถ่ายขั้วอำนาจกันเกิดขึ้น แต่ ณ สภาวการณ์นี้ประชาชนอย่างเราก็คงต้องคอยติดตามดูไปก่อน อย่าเพิ่งเอาข้อกังวลในอนาคตมาตัดสินใจในเรื่องนี้เป็นหลักสำคัญ หาเช่นนั้นแล้วกระบวนการจะไม่อาจเดินต่อไปได้ ทั้งการพึ่งองค์กรหรือคนใดคนหนึ่งแล้วปัญหาจบได้นั้นก็ไม่เป็นความจริงเสมอไป เพราะหลักสำคัญคือ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยสำนึกถึงส่วนรวมมากกว่าเน้นประโยชน์พวกพ้อง และสุดท้ายอำนาจตัดสินอยู่ที่เสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ซึ่งผมเชื่อว่าจะได้คนที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้จริงๆ
ดังนั้นทุกฝ่ายที่ปรารถนาดีต่อบ้านเมืองก็ควรทำใจยอมรับปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงแม้การเปลี่ยนแปลงนั้นจะไม่ได้ถูกใจใครทุกคนก็ตาม และสำคัญที่สุดคือหลักการใดๆนั้นต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงด้วย

วันนี้ คมช.อาจเป็นพระเอกในสายตาคนส่วนใหญ่ แต่พระเอกหากหลงติดอยู่กับอำนาจเมื่อไรพระเอกก็จะตกม้าตายได้เช่นกัน

Saturday, September 23, 2006

รอยยิ้มของการปฏิรูป

ภาพกลุ่มเด็กนักเรียนโรงเรียนศึกษานารี
โพสท่าถ่ายรูปหยอกล้อกันเล่นอย่างสนุกสนาน
สร้างบรรยากาศให้มีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
นับเป็นประวัติการณ์ใหม่ในการรัฐประหารที่นุ่มนวล