Saturday, October 21, 2006

ประธานสภานิติบัญญัติ

ตอนนี้ก็มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วจำนวน 242 คน

ในอีกส่วน คมช. ได้วางกติกาให้มีการแต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ จำนวน 2000 คนโดยเลือกกันเองให้เหลือ 200 คน เพื่อส่งรายชื่อให้ คมช. เลือก 100 คน เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และให้สภานี้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 25 คน ส่งต่อให้ คมช. เลือกอีก 10 คน โดยให้ประธานสภานิติบัญญัติเป็นประธานสมัชชาแห่งชาติโดยปริยาย

เมื่อตำแหน่งประธานนี้มีความสำคัญมาก... จึงไม่แปลกหากจะเกิดการแย่งชิงกันอย่างดุเดือดของ 2 ตัวเก็ง ว่าจะเป็นบุรุษคาบไปป์ หรือ มีชัยไทยแลนด์

ถ้าจะว่าไป ตัวบุคคลนั้นย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้บ้างเสมอคนที่ดีอาจจะเป็นคนไม่ดีในภายหลัง คนไม่ดีก็อาจจะกลับมาเป็นคนดีได้ จึงไม่อยากให้ใช้อคติส่วนตัวตัดสินแต่อยากให้โอกาสกันและคำนึงภาพรวมของประโยชน์ที่ประชาชนพึงได้รับเป็นหลัก

หากจะเอาเรื่องกับ อ.มีชัย โดยเฉพาะการตรา พรก.นิรโทษกรรมให้กับคณะ รสช. ที่สั่งปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 หรือการเป็นนักกฎหมายประเภทเนติบริกรให้มาเป็นประเด็น ในความเห็นผมก็ยังเป็นความเห็นที่ค่อนข้างอ่อนอยู่

ถ้าระบอบประชาธิปไตยของบ้านเราที่ยังไม่สามารถลงหลักปักฐานในสังคมไทยได้อย่างถาวรเพราะ ส่วนหนึ่งมาจากเนติบริกรที่ทำตัวรับใช้และสนองผู้มีอำนาจจนทำให้หลักนิติรัฐในการปกครองแผ่นดินไม่เคยเกิดขึ้นได้อย่างจริงจังในสังคมไทยอย่างที่คุณสุริยะใสกล่าวนั้น ทั้งปวงเป็นสิ่งที่ อ.มีชัยไม่ได้ช่วยเฉพาะรัฐบาลของทักษิณ แต่ได้ช่วยรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย เพราะเป็นเรื่องของระบบการทำงาน และหัวหน้าคณะในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือคนไหนๆหากได้รับการร้องขอจากคณะปฏิวัติให้มาช่วย ก็ต้องไป ทั้งที่ความจริงภายหลัง อ.มีชัย ก็ยังตำหนินโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ หลายประเด็น และสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลบ่อยครั้ง

ผมเชื่อว่าหลายคนเคยมีความสัมพันธ์กับพันตำรวจโททักษิณทั้งนั้น แม้ว่าวันนี้จะอยู่ตรงข้ามชัดเจนก็ตาม
สังคมเราทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าเมื่อรักใครชอบใคร ก็มักจะเชียร์หรือชิงชังโดยไม่รับฟังเหตุผลและความจริง
เมื่อเราได้ดูก็คงเห็นแล้วว่า ทุกขั้นตอนนั้นอยู่ในการกำกับของ คมช. ดังนั้นจึงเป็นจุดที่น่าเป็นห่วงอยู่ว่าอาจจะมีการถ่ายขั้วอำนาจกันเกิดขึ้น แต่ ณ สภาวการณ์นี้ประชาชนอย่างเราก็คงต้องคอยติดตามดูไปก่อน อย่าเพิ่งเอาข้อกังวลในอนาคตมาตัดสินใจในเรื่องนี้เป็นหลักสำคัญ หาเช่นนั้นแล้วกระบวนการจะไม่อาจเดินต่อไปได้ ทั้งการพึ่งองค์กรหรือคนใดคนหนึ่งแล้วปัญหาจบได้นั้นก็ไม่เป็นความจริงเสมอไป เพราะหลักสำคัญคือ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยสำนึกถึงส่วนรวมมากกว่าเน้นประโยชน์พวกพ้อง และสุดท้ายอำนาจตัดสินอยู่ที่เสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ซึ่งผมเชื่อว่าจะได้คนที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้จริงๆ
ดังนั้นทุกฝ่ายที่ปรารถนาดีต่อบ้านเมืองก็ควรทำใจยอมรับปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงแม้การเปลี่ยนแปลงนั้นจะไม่ได้ถูกใจใครทุกคนก็ตาม และสำคัญที่สุดคือหลักการใดๆนั้นต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงด้วย

วันนี้ คมช.อาจเป็นพระเอกในสายตาคนส่วนใหญ่ แต่พระเอกหากหลงติดอยู่กับอำนาจเมื่อไรพระเอกก็จะตกม้าตายได้เช่นกัน